กำเนิดระบบสุริยะ

    ระบบสุริยะเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 4.5 พันล้านปีก่อน จากการรวมตัวกันของฝุ่นและแก๊สต่าง ๆ การรวมตัวกันนี้เกิดขึ้นเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของฝุ่นและแก๊ส เมื่อความหนาแน่นเพิ่มขึ้น อุณหภูมิก็ค่อย ๆ สูงขึ้นด้วย บริเวณใจกลางของแก๊สที่มารวมตัวกันจะมีความหนาแน่นมากที่สุด และมีการหมุนของกลุ่มแก๊สที่มารวมกันนี้เพื่ออนุรักษ์โมเมนตัม ในที่สุดบริเวณใจกลางก็มีความหนาแน่นสูงจนเกิดเป็นดาวฤกษ์ ซึ่งก็คือดวงอาทิตย์นั่นเอง แก๊สและฝุ่นที่มีมวลต่ำในบริเวณใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ก็จะถูกแรงโน้มถ่วงดึงดูดเข้ารวมเป็นส่วนหนึ่งของดวงอาทิตย์
    ไกลออกไปจากบริเวณศูนย์กลางของระบบสุริยะ แก๊สและฝุ่นก็มีการรวมตัวกันและมีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดเกิดเป็นดาวเคราะห์ต่าง ๆ โดยที่ดาวเคราะห์ชั้นใน ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก และอังคาร ต่างก็เป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็กที่เป็นหินแข็งในบริเวณวงโคจรที่เป็นดาวเคราะห์ชั้นในนี้ แก๊สมวลต่ำ เช่น ไฮโดรเจน และฮีเลียม ได้ถูกแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ดึงไปจนหลงเหลือแต่ฝุ่นและแก๊สที่มีมวลสูงกว่า
    ดาวเคราะห์ชั้นนอกที่เกิดขึ้น ได้แก่ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ต่างก็เป็นดาวเคราะห์ที่มีองค์ประกอบหลักเป็นแก๊สไฮโดรเจนและฮีเลียม เช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ เนื่องจากเกิดขึ้นจากแก๊สและฝุ่นในเนบิวลา (Nebula) เดียวกันกับที่เกิดดวงอาทิตย์นั่นเอง รอบ ๆ ดาวเคราะห์วงนอกเหล่านี้ยังมีการรวมตัวกันของฝุ่นจนเกิดเป็นดวงจันทร์บริวารหลายดวง รวมถึงเกิดวงแหวนซึ่งอาจเกิดจากฝุ่นที่ไม่สามารถรวมกันเป็นดวงจันทร์บริวารได้
    ระหว่างวงโคจรของดาวเคราะห์ชั้นในและดาวเคราะห์ชั้นนอก เป็นบริเวณที่พบดาวเคราะห์น้อยเป็นจำนวนมาก จนเรียกว่าเป็น แถบดาวเคราะห์น้อย (Asteroid Belt) เป็นไปได้ว่าก้อนหินที่มีขนาดตั้งแต่ไม่กี่กิโลเมตร ไปจนถึงขนาดหลายร้อยกิโลเมตร เหล่านี้ไม่สามารถรวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์ได้เนื่องจากถูกแรงกระทำจากแรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัสบดี และนอกจากนี้ยังมีวัตถุอีกจำนวนมากที่อยู่นอกวงโคจรของดาวเนปจูน



ดวงอาทิตย์



ดวงอาทิตย์


ดาวเคราะห์





ดาวเคราะห์แคระ